$endsection URU Research

รายงานวิจัย

ทุนวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน
2554
การเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้สารเคมีในการเกษตร กรณีศึกษาตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ (กาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ) ของกลุ่มเกษตรกรจากการใช้สารเคมีในการเกษตรเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีในการเกษตรในตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มตัวอย่างคือเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในตำบลชัยจุมพลจำนวน 305 คน กลุ่มผู้นำชุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม สัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 64.3 และเพศหญิงร้อยละ 35.7 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41 – 50 ปี ร้อยละ 47.5 ส่วนใหญ่เกษตรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและสารเร่งการเจริญเติบโตร้อยละ 86.2 และจำนวนของสารเคมีที่ใช้ในแต่ละครั้งส่วนใหญ่ใช้ชนิดเดียวร้อยละ 49.5 กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 88.2 ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการเกษตรในการปลูกหอมแดงและร้อยละ 11.8 บอกว่าไม่จำเป็น กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 62.0 ไม่เคยใช้วิธีอื่นในแทนการใช้สารเคมีในการเกษตรและเคยใช้วิธีอื่นนอกจากการใช้สารเคมีในการเกษตรร้อยละ 38.0 ผลกระทบสุขภาพทางกายพบว่าเกษตรกรมีผลกระทบคือมีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า ร้อยละ 62.0 มีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ร้อยละ 61.6 ผลกระทบทางสุขภาพจิตเชิงลบส่วนใหญ่มีการฉีดพ่นสารเคมีในการเกษตรทำให้ผักพื้นบ้านต่างๆที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมีการปนเปื้อนและตกค้างของสารเคมีในการเกษตรร้อยละ 65.5 รองลงมามีความรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจเนื่องจากการพ่นสารเคมีในการเกษตรทำให้ปลิวเข้าบ้าน ตกใส่อาหารและเสื้อผ้าที่ตากไว้ร้อยละ 61.6 ผลกระทบทางสุขภาพสังคมพบว่าปัจจุบันมีการฉีดพ่นสารเคมีในการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ทำให้เวลาในการไปมาหาสู่หรือการร่วมกิจกรรมในหมู่เครือญาติ เพื่อนบ้านและชุมชนลดลง ร้อยละ 84.5 รองลงมาคือตั้งแต่มีการนำสารเคมีในการเกษตรมาใช้จนกระทั้งปัจจุบันทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกันในกิจกรรมการงานของหมู่บ้านและชุมชนน้อยลงไปกว่าเดิม ร้อยละ 79.3 ผลกระทบทางสุขภาพทางจิตวิญญาณพบว่าการใช้สารเคมีในการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ทำให้ท่านรู้สึกเห็นแก่ตัว ขาดจิตสำนึกและไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นร้อยละ 81.3 รองลงมาคือการใช้สารเคมีในการเกษตรทำให้ความอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจในชีวิตคนและสัตว์ลดลงร้อยละ 79.3 แนวทางในการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพกาย ควรมีการศึกษาภาวะสุขภาพร่างกายของเกษตรกรและสมาชิกในครอบครัวเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเฝ้าระวังและเพื่อติดตามดูผลกระทบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวควรมีการศึกษาผลกระทบแบบสะสมและความสัมพันธ์ของการใช้สารเคมีกับการเกิดภาวะการเจ็บป่วยด้วยอาการต่างๆในกลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารเคมีในการเกษตร แนวทางในการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจิต การศึกษาควรนำไปสู่การค้นหาอาการและสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นตลอดจนความถี่และความรุนแรงของการแสดงออกซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้น ควรศึกษาหรือประเมินผลกระทบต่อความเครียดและความสุขในชีวิตทั้งด้านบวกและด้านลบ ควรมีกลวิธีในการลดความเครียดและลดความวิตกกังวลให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบ แนวทางในการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพทางสังคม ควรศึกษาถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต วิเคราะห์และเปรียบเทียบให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านบวกและด้านลบ การหากลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงให้ผู้บริโภคสนใจเรื่องอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัวมากขึ้น การหากลวิธีในการลด ละ เลิกใช้สารเคมีในการเกษตรและหาสารชีวภาพมาทดแทน การหาแนวทางในการกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อลดการนำเข้าสารเคมีและมีมาตรการในการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน แนวทางในการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพทางจิตวิญญาณ ศึกษาการฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกหอม วัฒนธรรมพื้นบ้านที่สูญหายไป การร่วมกันทำกิจกรรมดังกล่าวนำไปสู่การร่วมกันระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ศึกษาแนวทางหรือสาเหตุที่แท้จริงการเปิดเวทีร่วมกันในการกำหนดตัวชี้วัดความสุข การมีส่วนร่วมในการพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง