ข้อมูลงานวิจัย รายงานข้อมูล

งานวิจัยรื่อง การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนานวัตกรรมพื้นบ้านในการลดการใช้ สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกรตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
-

นักวิจัย
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์ ดร.พัชรี ปัญญานาค
ผู้ร่วมวิจัย :
ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ :
วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาความรู้และพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกร 2. เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืช 3. เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาด้านการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาสร้างเป็นนวัตกรรมพื้นบ้าน
คำสำคัญ
-
บทคัดย่อย
การใช้สารเคมีทางการเกษตรโดยเฉพาะสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภค การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้และพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตร การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนานวัตกรรมพื้นบ้านในการลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยเป็นการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การร่วมเวทีชุมชน การสนทนากลุ่ม และการทดลองปฏิบัติ สามารถสรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้ ผลการศึกษาความรู้และพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตร พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรปานกลาง โดยข้อคำถามแต่ละข้อที่มีผู้ตอบถูกต้องมากกว่าตอบผิดคิดเป็นร้อยละ 60 ของคำถามทั้งหมด โดยมีค่าร้อยละของการตอบถูกและตอบผิดเท่ากับ 51.36-98.05 และ 1.95-46.64 ตามลำดับ ส่วนผลการศึกษาพฤติกรรมการปฏิบัติในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช พบว่า ข้อคำถามที่ผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ส่วนใหญ่แสดงพฤติกรรมปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้องทุกครั้งคิดเป็นร้อยละ 58.33 ปฏิบัติตามบ้างเป็นบางครั้งคิดเป็นร้อยละ 33.33 และไม่ปฺฏิบัติตามคิดเป็นร้อยละ 8.33 โดยพฤติกรรมที่มีการปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้องมากที่สุด คือ ก่อนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอ่านฉลากทุกครั้งคิดเป็นร้อยละ 85.99 ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำมากที่สุด คือ เมื่อรู้สึกไม่สบายในขณะฉีดพ่นสารเคมีจะหยุดพ่นทันทีและหากมีอาการรุนแรงจะไปพบแพทย์คิดเป็นร้อยละ 37.35 ผลการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชพบว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชในชุมชนก้อมี 7 แบบ ดังนี้ 1) การปลูกพืชหมุนเวียน ได้แก่ การสับเปลี่ยนหมุนเวียนชนิดพืชที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล 2) การเก็บหรือจับ โดยการสำรวจและจับออกไปทำลายนอกแปลงปลูก 3) การถางหรือการตัด โดยใช้เครื่องมือที่หาได้ง่ายทำลายวัชพืช 4) การตากดิน เพื่อให้ความร้อนทำลายโรคแมลงศัตรูพืช 5) การคลุมแปลง โดยใช้เศษเหลือของพืชหรือวัสดุมาคลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืช 6) การเลี้ยงสัตว์ควบคุมวัชพืช เช่น เป็ด ไก่ โค กระบือ ซึ่งกินพืชเป็นอาหารจึงช่วยในการวัชพืช และ 7) การใช้สมุนไพรป้องกันกำจัด ได้แก่ การปลูกพืชสมุนไพรไล่แมลงและการทำสารสกัดจากพืชสมุนไพร โดยใช้ในรูปของการหมักหรือการแช่และการทำสารสกัดชีวภาพ ผลการศึกษาการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาด้านการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาสร้างเป็นนวัตกรรมพื้นบ้าน ประกอบไปด้วยกระบวนการที่สำคัญ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การสร้างมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ การมีส่วนร่วมตามบทบาทหน้าที่ การมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ 2) การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสม 3) การสร้างนวัตกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ การทำสารกำจัดวัชพืช การทดลองใช้สารกำจัดวัชพืช การวิเคราะห์ผลการทดลอง และการสรุปผลการทดลอง 4) การใช้ประโยชน์นวัตกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ การจัดทำคู่มือ การสร้างต้นแบบของชุมชนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน
เอกสารงานวิจัย
  1. ปกนอก
  2. ปกใน
  3. บทคัดย่อ
  4. กิตติกรรมประกาศ
  5. สารบัญ
  6. บทที่ 1
  7. บทที่ 2
  8. บทที่ 3
  9. บทที่ 4 (1)
  10. บทที่ 4 (2)
  11. บทที่ 4 (3)
  12. บทที่ 4 (4)
  13. บทที่ 4 (5)
  14. บทที่ 5
  15. เอกสารอ้างอิง
  16. ภาคผนวก ก
  17. ภาคผนวก ข

ผลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่

Notes

ข้อมูลจากระบบ LRD : Local Research Development System.

ย้อนกลับ