$endsection URU Research

รายงานวิจัย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
2561
การประเมินเส้นทางผลลัพธ์ ผลกระทบของงานวิจัยในระบบวนเกษตรบนทิวเขาผีปันน้ำตะวันออกในเขต จ.อุตรดิตถ์
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อประเมินเส้นทางผลลัพธ์และผลกระทบ ของงานวิจัยในระบบวนเกษตรบนทิวเขาผีปันน้ำตะวันออกในเขต จ.อุตรดิตถ์ โดยศึกษาจากงานวิจัย 2 ชุดโครงการได้แก่ งานวิจัยชุดโครงการพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแลในระบบวนเกษตรเพื่อความมั่นคงทางด้านเกษตรและอาหารของจังหวัดอุตรดิตถ์ และงานวิจัยชุดโครงการการพัฒนานวัตกรรมรูปแบบการสร้างรายได้ด้วยเกษตรมูลค่าสูงจากระบบวนเกษตรบนทิวเขาผีปันน้ำตะวันออกในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ บนวิถีการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิในรูปแบบเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์นักวิจัย สัมภาษณ์ผู้ใช้ประโยชน์จากชุดโครงการวิจัยทั้ง 2 ชุดโครงการ เพื่อสร้างเส้นทางผลลัพธ์ ผลกระทบ (Impact pathway) โดยรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากเกษตรกรชาวสวนทั้งที่เข้าร่วมโครงการและไม่ได้เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 ชุดโครงการดังกล่าว ในสามพื้นที่การวิจัย ได้แก่ ตำบลนางพญา ตำบลแม่พูล ตำบลบ้านด่านนาขาม เพื่อทำการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจการมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นด้วยแบบจำลองโลจิต (logit model) ด้วยวิธี Treatment effect แบบจับคู่ความโน้มเอียงของ Propensity-score matching (PSM) ด้วยวิธีการ Average Treatment on the Treated (ATET) แบบ 1 ต่อ 1 การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมประเมินภายใต้แนวคิดผลตอบแทนทางสังคม (Social return on investment: SROI) ใช้เทคนิคการประเมินมูลค่าแทนทางการเงิน (Monetization) และเทคนิค Benefit transfer โดยคำนึงถึงการกำหนดขอบเขตของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริงจากชุดโครงการวิจัย ภายใต้แนวคิด Deadweight Analysis เพื่อกำหนดขอบเขตของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริง หรือเรียกว่าผลลัพธ์ส่วนเกิน (Deadweight) และการวัดความคุ้มค่าโครงการด้วยดัชนี NPV BCR และ IRR ผลการศึกษาพบว่าผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นของชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยทั้ง 2 ชุดโครงการ เท่ากับ 5,846,215.00 บาทต่อปี ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่ากับ 3,828,209.73 บาทต่อปี ผลกระทบด้านสังคม 3,357,894.13 บาทต่อปี รวมมูลค่าผลกระทบ 13,032,318.9 บาทต่อปี และมีดัชนีความคุ้มค่าที่คำนวณภายใต้แนวคิด Ex ante assessment ไป 5 ปีจากการยอมรับเทคโนโลยีที่ชาวสวนจะนำผลผลิตกาแฟมาเพิ่มมูลค่าเพิ่มที่ระดับการยอมรับร้อยละ 1.89 อัตราคิดลดดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะ 5 ปีร้อยละ 2.5 ค่าดัชนี NPV = 31,642,574.33 บาท BCR = 4.25, และ IRR = 167% ซึ่งดัชนีทั้งสามเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์แล้วการลงทุนชุดโครงการวิจัยทั้ง 2 ชุดโครงการ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์