ข้อมูลงานวิจัย รายงานข้อมูล

งานวิจัยรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
-

นักวิจัย
หัวหน้าโครงการ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์กาญจนา คุมา
ผู้ร่วมวิจัย :
ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ :
วัตถุประสงค์
1. เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในเขต ความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 2. เพื่อศึกษานวัตกรรมการกำจัดขยะของชุมชนตำบลวอแก้วแบบมีส่วนร่วมของชุมชน 3. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำนวัตกรรมการกำจัดขยะมูลฝอยของชุมชนตำบลวอแก้ว 4. เพื่อนำนวัตกรรมที่ได้มาใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5. เพื่อนำนวัตกรรมการจัดการขยะที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการ ขยะขององค์กรบริหารส่วนตำบลวอแก้ว
คำสำคัญ
นวัตกรรม,การจัดการแบบมีส่วนร่วม ,ขยะมูลฝอย
บทคัดย่อย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว และเพื่อศึกษานวัตกรรมการกำจัดขยะของชุมชนตำบลวอแก้วแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำนวัตกรรมการกำจัดขยะมูลฝอยของชุมชน อีกทั้งเพื่อการนำนวัตกรรมที่ได้จาการจัดการขยะมาใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะขององค์กรบริหารส่วนตำบลวอแก้วอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง โดยการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 35 ครัวเรือนโดยเน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระยะเวลาการทำวิจัย 1 ปี ตั้งแต่ เดือนกันยายน 2559 ถึง เดือนตุลาคม 2561 เครื่องมือที่ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ การสำรวจและสัมภาษณ์ การเสวนากลุ่ม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดเวทีประชาคม จากการวิเคราะห์การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว พบว่าตำบลวอแก้วมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะเนื่องด้วยในตำบลวอแก้ว ไม่มีการจัดเก็บขยะโดยองค์การบริหารส่วนตำบล เพราะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำโซนเอ ไม่สามารถทำเป็นพื้นที่จัดการขยะ ซึ่งชุมชนดำเนินจัดการขยะด้วยตนเองโดยการฝังกลบ เผา ทำปุ๋ยใช้ในทางการเกษตรกรรม แต่มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งขยะเปียกจากครัวเรือน ขยะแห้งประเภทถุงพลาสติก โฟม และขยะอันตราย จากการวิเคราะห์ตนเองของชุมชนร่วมกันวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้และการจัดการตนเองจากการบริหารจัดการขยะ ระบบ กลไกและการเชื่อมโยงบูรณาการการพัฒนาและเสริมสร้างอาชีพในท้องถิ่น การบริหารจัดการ การจัดการความรู้และเป็นประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจพึ่งตนเอง (แนวทางการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย การลดต้นทุนการผลิต และการทำการตลาดสิ่งแวดล้อมในชุมชนพบว่าชุมชนมีความรู้สามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอยของชุมชนได้ มีรูปแบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วมของชุมชน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ 1 การบริหารจัดการขยะที่ย่อยสลายได้(วอแก้วโมเดล1) การบริหารจัดการขยะที่ย่อยสลายได้จากขยะเปียก ขยะอินทรีย์ เศษอาหารพืชผักและผลไม้รวมทั้งขยะจากเกษตรกรรม เศษหญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ใบหญ้าชุมชนได้ดำเนินการและประเมินผลลัพธ์ตามแผนปฏิบัติการ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งขยะเปียก เศษซากอาหารภายในครัวเรือน ซึ่งชุมชนมีความต้องการและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทาง โดยการเพาะและเลี้ยงไส้เดือนในการกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และการทำปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติพบว่า สมาชิกแกนนำได้ดำเนินการการจัดการขยะในครัวเรือนต้นแบบ จำนวน 35 ราย สามารถจัดการขยะเปียกในครัวเรือนซึ่งเป็นขยะต้นทางได้ร้อยละ 100 ส่งผลทำให้ขยะย่อยสลายได้ลดลงเหลือร้อยละ 0 ส่วนรูปแบบ 2 การบริหารจัดการขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ (วอแก้วโมเดล2) เป็นการจัดการขยะทั่วไป โดยการคัดแยก เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก เศษผ้า ฯลฯ ชุมชนได้ดำเนินการและประเมินผลลัพธ์ตามแผนปฏิบัติการ พบว่าจากแนวคิดการลดปริมาณขยะในชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ส่งเสริม กระตุ้นให้ชุมชนบริหารจัดการขยะในครัวเรือน ด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทางโดยการยึดหลัก 3Rsคือการใช้น้อยใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่แทนที่จะนำไปทิ้ง ก็รวบรวมนำมาขายให้กับร้านรับซื้อของเก่าเพื่อส่งไปยังโรงงานสำหรับแปรรูปเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ครัวเรือนเป็นผู้คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ขณะที่อบต.วอแก้วจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและสนับสนุนการดำเนินงานมีการสร้างมาตรการลดปริมาณขยะ โดยส่งเสริมกระตุ้นและสร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชน มีการจัดการขยะเป็นรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ เช่นกิจกรรมการรณรงค์ ลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะผ่านกิจกรรมธนาคารขยะ โดยนำเงินรายได้จากการจำหน่ายขยะมาจัดสวัสดิการให้กับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการลดและคัดแยกขยะกันอย่างจริงจัง จนส่งผลให้ขยะในชุมชนลดลงอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพแกนนำหมู่บ้านจิตอาสาคัดแยกขยะ งดเว้นการเผาวัชพืชและใบไม้ในครัวเรือน ส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกัน จากการดำเนินงานตามรูปแบบ “วอแก้วโมเดล 2 ” คือ การบริหารจัดการขยะทั่วไป พบว่า สมาชิกแกนนำได้ดำเนินการการจัดการขยะในครัวเรือนต้นแบบ จำนวน 35 ราย สามารถลดขยะในครัวเรือนซึ่งเป็นขยะทั่วไปและขยะอันตราย จากการรณรงค์และส่งเสริมการจัดการขยะด้วยตนเองของครัวเรือน ทำให้คนในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะมากขึ้น มีการลงมือสู่การปฏิบัติสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับและนำมาปฏิบัติเองนั้นไปขยายผลให้กับญาติพี่น้องและครัวเรือนใกล้เคียง ส่งผลทำให้ประมาณขยะลดลงจากก่อนเริ่มกิจกรรม เหลือเพียงร้อยละ 12.5 รวมทั้งขยะอันตราย มีการนำขยะที่เก็บรวบรวมไว้มาขาย ณ จุดรับซื้อทำให้มีรายได้เพิ่ม ผลจากการลดขยะในชุมชนลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว ผ่านเกณฑ์การประเมินความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในโครงการการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด”ประจำปี 2561 ก่อเกิดจากทุกส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีการพัฒนาชุมชนด้านการจัดการขยะในชุมชนด้วยตนเองและมีประโยชน์ต่อชุนชนก่อเกิดการนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะขององค์กรบริหารส่วนตำบลวอแก้วโดยบรรจุโครงการคัดแยกกำจัดขยะ ไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณประจำปีต่อไป โดยจะดำเนินงานต่อยอดกิจกรรมที่ดำเนินการ ร่วมกันกำหนดมาตรการในการจัดการขยะในหมู่บ้าน กำหนดกิจกรรมที่จะร่วมขับเคลื่อน ธนาคารปุ๋ยหมักอินทรีย์ งดเผาเศษใบไม้ วัชพืช เศษวัสดุทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ทดแทนปุ๋ยเคมี ตอบสนองนโยบายตำบลเกษตรอินทรีย์ มีแนวทางการปฏิบัติงานด้านการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน จังหวัดลำปางสะอาดตามแนวทางประชารัฐ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชาชนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด โดยถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันลดขยะมูลฝอยควบคู่กับการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสถานที่สาธารณะต่างๆให้ร่มรื่นสะอาด สวยงาม อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชุมชนมีการการประยุกต์นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาบริหารจัดการขยะในครัวเรือนด้วยตนเอง เศษวัชพีชจากการเกษตร เศษอาหารในครัวเรือน นำไปทำปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน ส่วนขยะทั่วไปและขยะอันตรายรวมรวมให้ อบต.นำไปกำจัดอย่างถูกวิธีและมีนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ได้นำไปขยายเผยแพร่สู่ครัวเรือนใกล้เคียงและครัวเรือนญาติพี่น้องได้ชุมชนท้องถิ่นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทราบถึงข้อดี ข้อเสีย ผลลัพธ์และปัญหา ข้อเสนอแนะจากกลุ่มแกนนำและนำมาแก้ไขปรับปรุงเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพให้เป็นชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน
เอกสารงานวิจัย
  1. บทความ
  2. กิตติกรรมประกาศ บทคัดย่อ
  3. สารบัญ
  4. หน้าปก
  5. บทที่ 1-5

ผลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่

Notes

ข้อมูลจากระบบ LRD : Local Research Development System.

ย้อนกลับ