ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

URU Information Center.

ระบบศูนย์ข้อมูลกลาง (URU-InfoCenter) เป็นระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ฐานข้อมูลเข้าถึงข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ (Web-Service) ของหน่วยงานสถาบันศึกษาได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ปฏิบัติพันธกิจที่สนองต่อปรัชญา เป้าหมาย วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น เสริมสร้างพลังปัญญาแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างสรรค์ศิลปวิทยา มีนโยบายสนับสนุนอาจารย์และบุคลากรปฏิบัติงานแบบบูรณาการพันธกิจทั้งด้านการสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม องค์ความรู้และเทคโนโยลีที่เหมาะสมเพื่อท้องถิ่น บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำงานด้วยจิตวิญญาณเพื่อชุมชนท้องถิ่นโดยร่วมกับองค์กรภาคีทั้งภายในและภายนอก ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงก่อนปี 2540 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์มีผลงานที่ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นที่มีคุณค่าควรแก่การสานต่อจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ขึ้นกับบุคคล ขาดการบ่มเพาะสานพลังต่อเนื่อง จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ปี 2540 – 2541 มหาวิทยาลัยได้ทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์เพื่อประเมินสถานภาพองค์ความรู้และพัฒนาชุดโจทย์วิจัยที่สนองต่อเป้าหมายวิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้เกิดเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคีทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการองค์ความรู้ที่ได้จากผลการวิจัย และจัดเก็บข้อมูลของชุมชนท้องถิ่นที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2551- 2554 มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาตำบลสุขภาวะและจังหวัดน่าอยู่จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จากการออกแบบการทำงานเพื่อสร้างกลไกเชิงระบบที่เชื่อมงานประกันคุณภาพองค์กรกับการพัฒนาพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการสานการทำงานสู่เป้าหมายร่วมกันของพื้นที่ทั้งระดับตำบลและจังหวัด จึงเกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลของชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาใช้ประมวลผลให้ได้สารสนเทศสนับสนุนการวิจัยในแต่ละโครงการ ปี 2555 – 2561 มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศ ขึ้นมาใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานวิจัย การจัดเก็บองค์ความรู้จากงานวิจัย ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัย เช่น ระบบฐานข้อมูลผลผลิตทุเรียนหลงลับแล ระบบซื้อขายผลผลิตทุเรียนหลงลับแล ระบบประกันคุณภาพทุเรียนหลงลับแล ระบบจัดการพื้นที่การผลิตรายแปลง ระบบพยากรณ์ผลผลิตทุเรียนหลงลับแล ระบบฐานข้อมูลศักยภาพของเกษตรกร ระบบจัดการข้อมูลภัยพิบัติ ระบบจัดการข้อมูลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ระบบฐานข้อมูลเครือข่ายสุขภาวะ เป็นต้น ระบบฐานข้อมูลต่างๆ เกิดขึ้นจากงานวิจัยภายใต้การดำเนินงานในชุดโครงการของมหาวิทยาลัย และยังได้รับการพัฒนาปรับปรุงและใช้ระบบมาจนถึงปัจจุบัน ระบบฐานข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง ที่ได้พัฒนาขึ้นภายในมหาวิทยาลัยตามพันธกิจของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ทั้งในรูปแบบฐานข้อมูลสารสนเทศ เว็บแอพพลิเคชัน โมบายแอพพลิเคชัน ยังมีอีกมากมายหลายระบบ รวมทั้งฐานข้อมูลเฉพาะของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานของบุคลากร เช่น ฐานข้อมูลงานวิจัย ฐานข้อมูลบุคลากร ฐานข้อมูลด้านบริการการศึกษา เป็นต้น

จากความหลากหลายในการปฏิบัติพันธกิจของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย จึงเกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแยกตามพันธกิจในแต่ละด้านที่มีความแตกต่างกัน เกิดระบบฐานข้อมูลจำนวนมากแต่แยกกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย ทำให้เกิดความหลากหลายของระบบฐานข้อมูล และเกิดการใช้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเกิดขึ้น ไม่สามารถใช้งานระบบร่วมกันได้ จึงไม่สามาถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดการยกเลิกใช้ระบบฐานข้อมูลในที่สุด ผู้วิจัยได้เล็งเห็นมูลค่าของฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ และไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากปัญหาหลักที่สำคัญคือ ฐานข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน ไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ และอีกด้านหนึ่งในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ภายในจังหวัดอุตรดิตถ์มีความหลากหลายและไม่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง อันทำให้เกิดการยกเลิกในการใช้ระบบ สาเหตุจากไม่มีผู้ใช้ การยอมรับระบบร่วมกัน และความซ้ำซ้อนของระบบ จึงขาดความยืดหยุ่นในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและขาดการเชื่อมสารสนเทศเกิดขึ้น ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการนำข้อมูลเดิมที่มีอยู่กลับมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยออกแบบมาตรฐานข้อมูล ออกแบบการรวบรวมระบบ ปรับปรุงโปรแกรมที่มีอยู่ สร้างระบบผู้ใช้กลาง สร้างระบบศูนย์กลางข้อมูล เพื่อรวบรวมให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันและเชื่อมต่อกับระบบศูนย์ข้อมูลกลางข้อมูลแหล่งเดียวกัน สามารถรองรับการขยายผลใช้ระบบต่อไปในอนาคตได้ คณะผู้วิจัยจึงได้นำเสนอ การจัดการศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการพัฒนาระบบจัดการข้อมูลผู้ใช้ศูนย์กลาง ทำหน้าที่เป็นระบบยืนยันตัวตนบุคคลส่วนกลาง Single Sign ON (SSO) เพื่อใช้เว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูล (Data Center) เป็นศูนย์รวมเพื่อการจัดการข้อมูลทั้งระบบ โดยสร้างชุดโปรแกรมสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูล (Application Programming Interface : API) เพื่อประมวลสร้างสารสนเทศ และให้บริการข้อมูลในรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Web Service) สำหรับรองรับกับการเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลในทุกแอปพลิเคชันที่มีความแตกต่างกัน จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลในทุกหน่วยงานทั้งภาคสถาบันการศึกษาและภาครัฐ สร้างเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการชุมชนให้เกิดเข้มแข็ง เกิดการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำในรูปแบบที่หลากหลาย ด้วยศูนย์กลางข้อมูลและระบบการเรียนรู้ของชุมชนอย่างเป็นระบบ ชุมชนได้ระบบข่าวสารที่รวดเร็วและการติดตามเหตุการณ์ข่าวสารได้ อีกทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการพัฒนาต่อยอดระบบสารสนเทศให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนได้ในอนาคต

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่
  • เพื่อประยุกต์ใช้ระบบจัดการศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • ได้ระบบฐานข้อมูลศูนย์กลาง
  • เกิดมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูล
  • การนำข้อมูลกลับมาใช้ประโยชน์
  • เกิดการต่อยอดและขยายผลในอนาคต
  • เกิดศูนย์รวบรวมข้อมูลเครือข่ายผู้ใช้
  • ได้ระบบฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาของจังหวัด
  • เกิดสารสนเทศที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

URU Information Center. การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (URU-InfoCenter) มีเป้าหมายที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมากให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ภายใต้ระบบควบคุมข้อมูลศูนย์กลาง
มีปัจจัยนำเข้าระบบคือ ข้อมูลสมาชิกผู้ใช้ระบบ ข้อมูลภาควิชาการ ข้อมูลพื้นที่ชุมชน ข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลโปรแกรมเฉพาะด้าน โปรแกรมเฉพาะด้านในโครงการหรืองานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับฐานข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลเกษตรกร ฐานข้อมูลภัยพิบัติ การจัดการบัญชีครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมให้อยู่ในรูปแบบฐานข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน และพัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูลศูนย์กลางเพื่อควบคุมการใช้ข้อมูลทั้งระบบให้เชื่อมโยงกันและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประมวลผลเพื่อให้ได้สารสนเทศที่นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และสามารถนำมาให้บริการพัฒนาพื้นที่ชุมชนได้ เมื่อเกิดการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลปริมาณมากๆ จะทำให้เกิดมูลค่าของข้อมูลที่จะดึงดูดผู้ใช้ระบบให้มากขึ้นส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และเกิดการพัฒนาขยายผลต่อยอดจากระบบฐานข้อมูลเดิมให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

การจัดการศูนย์ข้อมูล (Data Center Management) มีเป้าหมายในการรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาควิชาการ การจัดการพื้นที่ชุมชน เกษตรกรรม ภัยพิบัติ และข้อมูลด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ที่มีความต้องการในการขับเคลื่อนฐานข้อมูลให้กับผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง โดยสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลทางเทคนิคด้วยเทคโนโลยีเว็บ ซึ่งมีวิธีการบริหารข้อมูลอยู่ 2 ด้านหลักคือ

1.ระบบจัดการข้อมูลผู้ใช้ศูนย์กลาง

ระบบจัดการข้อมูลผู้ใช้ศูนย์กลาง ทำหน้าที่เป็นระบบยืนยันตัวตนบุคคลส่วนกลาง Single Sign ON (SSO) เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้แอปพลิเคชันมากมาย และหลากหลายชนิด ซึ่งการเข้าใช้งานนั้นจะต้องมีการใช้ User name และ Password เพื่อความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ทั้งยังมีนโยบายการเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สร้างความยุ่งยากต่อผู้ใช้ในการเข้าใช้งานระบบเป็นอย่างยิ่ง การนำระบบ Single Sign-On as a Service มาใช้จึงเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะจะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงการใช้งานได้ทุกแอปพลิเคชันผ่านการล็อกอินเพียงครั้งเดียว แล้วยังรองรับการใช้งานจากทุกอุปกรณ์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์, โน๊ตบุค, แท็บเล็ต และ โทรศัพท์มือถือ จึงช่วยให้องค์กรยังคงมีความปลอดภัย และเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงานมากยิ่งขึ้น ระบบเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล จึงมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ โดยสมาชิกระบบเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลสามารถเข้าสู่ระบบเว็บไซต์กลาง แล้วสามารถเข้าใช้งานแอปพลิเคชันของโครงการที่เข้าร่วมได้ทันที โดยไม่ต้องลงชื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันนั้นซ้ำอีก

2.ศูนย์ให้บริการข้อมูล

ศูนย์ให้บริการข้อมูล คือเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูล (Data Center) ที่เป็นศูนย์รวมเพื่อการจัดการข้อมูลทั้งระบบ โดยสร้างชุดโปรแกรมสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูล (Application Programming Interface : API) เพื่อประมวลสร้างสารสนเทศ และให้บริการข้อมูลในรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Web Service) สำหรับรองรับกับการเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลในทุกแอปพลิเคชันที่มีความแตกต่างกัน ระบบเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล จะมีการทำงานในลักษณะเว็บบอท (Web Bot) สำหรับการดึงข้อมูลจาก แอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลที่เดียวกัน เพื่อใช้ต่อยอดในการสร้างสารสนเทศ หรือวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่างๆ   การดำเนินการจัดทำศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเชิงเทคนิค การวางระบบและกลไกลสำหรับผู้ใช้ การกำหนดนโยบายในการใช้ระบบ การพัฒนาโปรแกรมด้วยเทคนิคต่างๆ ตลอดจนการกำหนดรูปแบบของการใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูล

แผนดำเนินงาน

ในโครงการนี้ เริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะออกแบบระบบและวางแผนการดำเนินการ มีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้
  • ออกแบบระบบและกลไกลสำหรับการจัดการข้อมูล เป็นการกำหนดแนวคิดและวิธีการปฏิบัติสำหรับการจัดการข้อมูลศูนย์กลาง เพื่อกำหนดนโยบายในการใช้ระบบอันเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้
  • ออกแบบวิธีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล เป็นการสำรวจข้อมูลที่มีอยู่ในทุกๆโครงการ และทุกๆ หน่วยงาน เพื่อออกแบบฐานข้อมูลส่วนกลาง และรวมฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันได้ไว้ที่ระบบศูนย์กลางข้อมูล
  • เทคโนโลยีในการพัฒนา เป็นขั้นตอนการวิเคราะห์ พิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยี และเทคนิคในการพัฒนา เพื่อให้สามารถรวบรวม เชื่อมโยง และจัดการกับข้อมูลที่หลากหลายได้
  • พัฒนาเซิร์ฟเวอร์ พัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ และจัดการระบบการใช้ทรัพยากรให้รองรับกับศูนย์กลางข้อมูล
  • เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล พัฒนาเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อเป็นสื่อกลางดำเนินงาน และเป็นแอปพลิชันหลักสำหรับการพัฒนาฐานข้อมูลด้วยเทคโนโลยีต่างๆ
  • รวบรวมโครงการฐานข้อมูล ได้แก่โครงการภายในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูลที่มีความประสงค์ในการเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูล เพื่อจัดเตรียมวิธีการดำเนินรวมระบบต่อไป
  • สร้างชุดรูปแบบสำหรับผู้ใช้ที่รวมระบบ ได้แก่ วิธีการเชื่อมต่อระบบกับศูนย์ข้อมูล คู่มือสำหรับผู้ดูแลระบบ คู่มือสำหรับผู้บริหารแอปพลิเคชัน คู่มือสำหรับผู้พัฒนา คู่มือสำหรับผู้ใช้ทั่วไป