ข้อมูลงานวิจัย รายงานข้อมูล

งานวิจัยรื่อง ผลของการออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่นที่มีต่อการทรงตัว และการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ
Effects of traditional dancing on balance and mobility in the elderly,

นักวิจัย
หัวหน้าโครงการ : นาย มนัสวี บุราณศรี
ผู้ร่วมวิจัย :
ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ :
วัตถุประสงค์
1 . ศึกษาผลของการออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่นที่มีต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ
คำสำคัญ
การฟ้อนรำท้องถิ่น หมายถึง ท่าฟ้อนรำที่ประยุกต์จากท่าฟ้อนรำท้องถิ่นจากชมรมผู้สูงอายุ ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นการประยุกต์ศิลปะการฟ้อนรำพื้นบ้าน โดยมีการ บูรณาการท่ารำร่วมกันของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อพัฒนารูปแบบการออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่นอย่างเป็นขั้นตอน,สมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวกับสุขภาพ (Health- related physical fitness) หมายถึง ความสามารถในการประกอบภารกิจประจำวันอย่างต่อเนื่องด้วยความกระฉับกระเฉง และตื่นตัว ปราศจากความเหนื่อยล้าและช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับการวิจัยนี้จะกล่าวถึง องค์ประกอบของร่างกาย ความแข็งแรง ความอดทนของกล้ามเนื้อ ความอ่อนตัว และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด,ความสามารถด้านการเคลื่อนไหว (Movement ability) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัยไปยังตำแหน่งต่างๆ เช่นการนั่ง การลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้ การยืน การยกเข่า การเดินอย่างอิสระ และการหมุนตัว เป็นต้น ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ได้ทดสอบด้านการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการลุกนั่งบนเก้าอี้ 60 วินาที และยืนยกเข่าสูงสลับซ้ายขวา 2 นาที ,ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตามทฤษฎีของเพค (Peck’s developmental theory) แบ่งเป็น 2 ช่วงวัยได้แก่ ผู้สูงอายุวัยต้น (55-75 ปี) และผู้สูงอายุวัยปลาย (75 ปีขึ้นไป) (ฤตินันท์, 2543) ซึ่งในการศึกษาวิจัยครั้งนี้กำหนดช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุวัยต้น อายุอยู่ระหว่าง 55-75 ปี
บทคัดย่อย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของรูปแบบการออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่นมีผลดีต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมสุขภาพ เพศชายและเพศหญิง อายุระหว่าง 60 - 75 ปี จำนวน 90 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ 1 ออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่น จำนวน 45 คน และกลุ่มทดลองที่ 2 ออกกำลังกายกิจกรรมทางกายทั่วไป จำนวน 45 คน ทั้งสองกลุ่มฝึกการออกกำลังกายเป็นระยะเวลา 45 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ก่อนและหลังการทดลองทำการเก็บข้อมูลตัวแปรทางสรีรวิทยา สมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวกับสุขภาพ และความสามารถด้านการเคลื่อนไหว นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของตัวแปรระหว่างก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้การทดสอบค่าทีแบบรายคู่ และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของตัวแปรระหว่างกลุ่มการทดลองโดยใช้การทดสอบค่า( t-test ) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ผลการวิจัยพบว่า ภายหลัง 12 สัปดาห์ ตัวแปรทางสรีรวิทยาและสมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวกับสุขภาพ ของกลุ่มออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่น มีค่าตัวแปรของสรีรวิทยาของร่างกายได้แก่ อัตราชีพจรขณะพักมีค่าเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มออกกำลังกายกิจกรรมทางกายทั่วไป ในด้านองค์ประกอบของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรในทางที่ดีขึ้น ได้เก่ น้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย มวลของไขมันในร่างกาย มวลกล้ามเนื้อ เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย และอัตราการเผาผลาญพลังงาน แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของทั้งสองกลุ่ม ภายหลัง 12 สัปดาห์ พบว่าในกลุ่มออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่นมีค่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนบนของร่างกายในการทดสอบแรงบีบมือ และกล้ามเนื้อส่วนล่างในการทดสอบแรงเหยียดขามีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความสามารถด้านความอ่อนตัวดีขึ้น ความสามารถด้านการเคลื่อนไหวร่างกายภายหลังการฝึก 12 สัปดาห์ พบว่าในกลุ่มออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่นมีค่าเฉลี่ยของการทดสอบการลุกนั่งบนเก้าอี้ 60 วินาที และความสามารถในการเดิน 6 นาที มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มออกกำลังกายด้วยกิจกรรมทั่วไป และยังพบว่าในการทดสอบยืนตรงยกเข่า 2 นาที มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ของทั้งสองกลุ่ม สรุปได้ว่ารูปแบบการการออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำท้องถิ่นสามารถช่วยพัฒนาระบบหัวใจไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและข้อต่อเพิ่มขึ้น รักษาสมดุลของร่างกายในขณะมีการเคลื่อนไหวร่างกาย และมีจังหวะการเคลื่อนไหวร่างกายแบบต่อเนื่องดีขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหลายๆด้าน
เอกสารงานวิจัย
  1. ปก
  2. สารบัญ
  3. สารบัญตาราง
  4. สารบัญภาพ
  5. สารบัญแผนภูมิ
  6. บทที่1-5

ผลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่

Notes

ข้อมูลจากระบบ LRD : Local Research Development System.

ย้อนกลับ